พุธ. ม.ค. 22nd, 2025

เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสามารถนำมาเดินขนานกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหรือกับไฟหลวงได้ แต่ก่อนที่แหล่งกำเนิดไฟฟ้าสองแหล่งจะขนานกันได้นั้น ชุดควบคุมการขนานจะต้องเช็คโวลท์ ความถี่ และ phase shift ให้ตรงกันเสียก่อนที่จะสับให้ไฟเข้ามาขนานกันเพื่อจ่ายโหลดต่อไป ซึ่งลักษณะของการ Sync นั้น โดยทั่ว ๆ ไปมักจะเรียกกันวงการว่า sync ขาไป กับ sync ขากลับ

sync ขาไป หมายถึง สถานการณ์ที่ทราบแล้วว่าไฟหลวงจะดับ ดังนั้นจึงสั่งสตาร์ทเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแล้วนำไฟจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนานเข้ากับไฟหลวงก่อนที่ไฟจะดับ ซึ่งเมื่อไฟหลวงดับไปแล้วแต่ก็ยังมีไฟจากเจนคอยจ่ายให้กับโหลดอยู่นั่นเอง (สังเกตว่าลักษณะการทำงานเช่นนี้จะไม่มีไฟขาดหายไปเลย) หรืออาจจะเป็นลักษณะของการขนานเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหลาย ๆ เครื่องเข้าด้วยกันก่อนแล้วขนานกับไฟหลวงอีกทีก็ได้ ตัวอย่างการใช้งานเช่นนี้พบได้มากในยุคที่ราคาของน้ำมันดีเซลยังราคาถูก ก็จะเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจ่ายไฟให้กับโหลดเพื่อตัดพีคของการไฟฟ้า แต่ในปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลสูงเกินกว่าที่จะเดินเครื่องเพื่อตัดพีคแล้ว

sync ขากลับ หมายถึง สถานการณ์ที่ไฟดับไปแล้ว และใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าจ่ายไฟให้กับโหลดอยู่ และหลังจากที่ไฟหลวงกลับมาก็จะนำไฟหลวงมาขนานเข้ากับไฟจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าก่อน แล้วจึงค่อยปลดไฟจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าออก (สังเกตว่าลักษณะเช่นนี้ก็จะไม่มีไฟขาดหายไปเช่นกัน)

ซึ่งหน่วยงานที่ต้องการใช้งานประเภทนี้จะค่อนข้างซีเรียสเรื่องการขาดหายไปของไฟหรือการเกิดไฟกระพริบในช่วงเวลา transfer แหล่งจ่าย โดยค่าใช้จ่ายสำหรับอุปกรณ์ควบคุมการขนานนั้นค่อนข้างราคาสูง ในปัจจุบันต้องมีงบประมาณไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท สำหรับตู้ควบคุมการ sync

You missed