จากสเปคของผู้ออกแบบหลาย ๆ งานส่วนใหญ่แล้วจะกำหนดให้จัดถังน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีความจุอย่างน้อย 8 ชั่วโมงสำหรับการเดินเครื่องที่ Full Load ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่ก็มีผู้ออกแบบบางรายระบุให้สำรองได้ 12 ชั่วโมง, บางราย 24 ชั่วโมง (ซึ่งอันหลังนี้เริ่มจะเกินปกติแล้วครับ) ยังไม่พอครับบางรายให้สำรองได้ 48 ชั่วโมง
ซึ่งสำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าตัวเล็ก ๆ แล้วก็จะไม่ค่อยน่าห่วงเท่าไหร่ แต่ถ้าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่ เช่นขนาด 1000 เควีเอ
หากต้องการสำรองน้ำมันให้เพียงพอใช้งานได้ 48 ชั่วโมงแล้วหล่ะก็ ต้องจัดถังน้ำมันขนาดประมาณ 10,000 ลิตร และการติดตั้งถังน้ำมันขนาดที่มีขนาด 10,000 ลิตรขึ้นไปต้องมีการขออนุญาตด้วยครับ นอกจากจะยุ่งยากแล้วผมเกรงว่าจะสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ
ท่านลองคิดดูจำนวนเงินที่อยู่ในถังน้ำมันสิครับ (ราคาน้ำมันดีเซลปัจจุบันประมาณลิตรละ 27 บาท) ก็เท่ากับว่าเอาเงิน 270,000 บาท วางไว้ในถังน้ำมันเฉย ๆ แล้วยิ่งใช้สำหรับการสำรองฉุกเฉิน (Standby) ด้วยแล้ว ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะปี ๆ หนึ่งท่านอาจใช้งานเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไม่ถึง 10 ชั่วโมง แต่ท่านมีน้ำมันสำรองไว้ถึง 48 ชั่วโมง แล้วปริมาณน้ำมันที่เหลือนั้น หากเก็บไว้นานน้ำมันดีเซลอาจมีการเสื่อมสภาพได้ ซึ่งผู้ผลิตบางราย เช่น Caterpillar แนะนำว่าไม่ควรเก็บน้ำมันดีเซลไว้เกินกว่า 1 ปี
ดังนั้นสรุปข้อเสียของการมีถังน้ำมันขนาดใหญ่ (เพียงเพื่อขี้เกียจเติมน้ำมันบ่อย ๆ )
1. ถ้าเกินกว่า 10,000 ลิตร ต้องมีการขออนุญาต
2. สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการสต๊อกน้ำมัน รวมถึงค่าถังน้ำมันและการติดตั้งที่แพงกว่าปกติมาก
3. น้ำมันอาจเสื่อมสภาพ เนื่องจากเก็บไว้นานโดยไม่ได้ใช้งาน
อย่ากลัวเลยครับว่าจะเติมน้ำมันไม่ทัน เพราะจากประสบการณ์ของผมที่ผ่านมาเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองใช้งานต่อปีมักจะใช้งานไม่ถึง 30 ชั่วโมง หรือเทียบง่าย ๆ ว่า 6 เดือนใช้ไม่ถึง 15 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นก็ลองพิจารณาดูนะครับว่าควรจะออกแบบถังน้ำมันให้มีขนาดเท่าไหร่จึงจะเหมาะสมกับการใช้งานในหน่วยงานของท่าน